วันดินโลก (World Soil Day)

 

วันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี จากการประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11–15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนและร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง "วันดินโลก" (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ  เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 และขอพระบรมราชาอนุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันดินโลก" เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์การสหประชาชาติ จัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะต่าง ๆ อาทิ การประกาศให้ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เป็น "ปีดินสากล" ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม นำเสนอประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยสืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันข้อเสนอปีดินสากลต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันดินโลก กระทั่งมีการรับรองข้อเสนอดังกล่าว

ทำไมต้องมี วันดินโลก

เพื่อสร้างความตระหนักถึง...ความสำคัญของดิน

           "ดิน" เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการเกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร      ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาด

ดินนับวันจะเสื่อมโทรมลง...หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน

          ความต้องการใช้ทรัพยากรดินมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ หากมีการเสื่อมสลายไป การใช้ที่ดินผิดประเภท ขาดการอนุรักษ์ และป้องกันปัญหาที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ส่งผลต่อคุณภาพ กำลังผลิตของดิน และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของ มนุษย์ ซึ่งหากดินมีความเสื่อมโทรมที่รุนแรงมาก การฟื้นฟูดินให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนเดิมจะทำได้ยาก ขึ้นด้วย

วันดินโลก...วันสำคัญเพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับดิน

          สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันดินโลก" (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

การอนุรักษ์ดิน

          ดิน คือ เทหวัตถุธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก เป็นวัตถุที่ค้ำจุนการเจริญเติบโตและการทรงตัวของต้นไม้  ดินประกอบด้วยแร่ธาตุและอินทรียวัตถุต่างๆ และมีลักษณะชั้นแตกต่างกัน แต่ละชั้นที่อยู่ต่อเนื่องกันจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามขบวนการ กำเนิดดิน

การอนุรักษ์ดิน หมายถึง การใช้ประโยชน์จากดินอย่างชาญฉลาด ซึ่งจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
          1. ลดการกัดเซาะหรือป้องกันการพังทลายของดิน
          2. รักษาปริมาณธาตุอาหารในดินให้คงความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ
          3. รักษาระดับอินทรียวัตถุ และคุณสมบัติของดินในทุกๆ ด้าน เพราะการปรับปรุงให้กลับคืนมาจากการสูญเสียไปนั้น จะต้องใช้เวลาอันยาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการป้องกันโดยวิธีการอนุรักษ์เป็นอันมาก

                      วิธีการพิเศษในการอนุรักษ์ดิน 

          สำหรับวิธีการพิเศษในการอนุรักษ์ดิน ตามหลักการอนุรักษ์ ได้แก่
          1. การปลูกพืชคลุมดิน หมายถึง การปลูกพืชที่มีใบหนาแน่น หรือมีระบบรากลึกและแน่นเพื่อคลุมและยึดดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว และหญ้า เป็นต้น
          2. การปลูกพืชหมุนเวียน หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดกันบนพื้นที่เดียวกันโดยหมุนเวียนเปลี่ยนไป นอกจากนี้การเลือกชนิดพืชที่จะนำมาปลูก ควรพิจารณาเลือกพืชที่มีความต้องการแร่ต่างกัน รวมทั้งเลือกปลูกพืชแต่ละชนิดที่มีระบบรากลึกและรากตื้นสลับกัน และไม่ควรปลูกพืชวงศ์เดียวกัน เพราะจะมีศัตรูพืชคล้ายกัน
          3. การคลุมดิน หมายถึง การนำเอาวัสดุใดๆ  เช่น หญ้าแห้ง ขี้เลื่อย ไปคลุมไว้บนดินเพื่อป้องกันการกัดเซาะ และลดแรงปะทะของเม็ดฝนและแรงลม ทำให้ดินเพิ่มความสามารถในการรักษาความชื้น และลดการไหลบ่าของน้ำ อันจะช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารในดิน
          4. การปลูกพืชตามแนวระดับ หมายถึง การไถ พรวน หว่าน และเก็บเกี่ยวพืชผลขนานไปตามแนวระดับ เพื่อลดการพังทลายของดิน
          5. การปลูกพืชสลับเป็นแถบ หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดกันสลับเป็นแถบๆ ขวางความลาดชันของพื้นที่ หรือตามแนวระดับ
          6. การทำขั้นบันได เพื่อช่วยลดความลาดเทและความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า ทำให้ปริมาณการสูญเสียเนื้อดินน้อยลง ป้องกันการเกิดร่องน้ำและช่วยให้ดินเก็บความชื้นได้มากขึ้น

วิธีการรักษาหรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินทำได้ดังนี้

          1. เพิ่มอินทรียวัตถุ เศษเหลือจากพืช เช่น หญ้าแห้ง กิ่งไม้ใบไม้ และปุ๋ยพืชสด รวมทั้งเศษเหลือจากสัตว์ อินทรียวัตถุเหล่านี้จะไปช่วยทำให้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของดินดีขึ้น ทำให้ดินร่วนซุยสามารถดูดซับน้ำได้มากขึ้น ส่วนจุลินทรีย์ในดินจะช่วยให้อินทรียวัตถุต่างๆ เหล่านี้สลายตัวเป็นธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์แก่พืชต่อไป
          2. การเพิ่มปุ๋ยพืชสด โดยการไถพรวนพืชสดๆ ทับลงไปในดิน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มแร่ธาตุจากพืชสดเพื่อเป็นอาหารแก่ดิน
          3. การใช้ซากและเศษเหลือจากสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซัลเฟอร์ เป็นต้น อันจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ดีขึ้น
          4. การใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยให้ดินคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้
          5. การใช้ปูนขาว เพื่อให้ธาตุแคลเซียมซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อพืช และยังเป็นตัวช่วยลดความเป็นกรดและปรับปรุงคุณสมบัติอื่นๆ ของดินได้ดีอีกด้วย
           6. การรักษาธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ในดิน การรักษาธาตุไนโตรเจนในดิน ทำได้โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วไว้คอยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และทำการไถพรวนเป็นปุ๋ยพืชสด อันจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดินได้อย่างดี ส่วนฟอสฟอรัส พืชมักจะใช้ในรูปของซูเปอร์ฟอสเฟต สำหรับโพแทสเซียมรักษาให้คงอยู่ได้ ด้วยการปลูกพืชให้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันการชะล้าง และควรใช้ปุ๋ยที่ให้โพแทสเซียมโดยตรง

                                         การจัดการทรัพยากรที่ดิน
          การจัดการทรัพยากรที่ดินให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืนต่อไป ได้แก่
          1. วางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสมรรถนะของที่ดิน สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อม เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินให้เป็นไปอย่างประหยัด โดยให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยพื้นที่สูงสุด และสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ตลอดไป
          2. ศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจกรรมต่างๆ และจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ที่ดินประเภทต่างๆ ในระดับจังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ เช่น เขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม เขตชุมชนเมือง และเขตสถานที่ราชการ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและควบคุมการใช้ที่ดินแต่ละประเภทให้สอดคล้องกับการกำหนดเขต โดยเฉพาะจะช่วยให้การคุ้มครองพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมไว้เป็นแหล่ง ผลิตที่ถาวรของประเทศตลอดไป และเท่ากับเป็นการป้องกันมิให้มีการนำที่ดินไปใช้อย่างผิดประเภท อันจะช่วยให้การใช้ที่ดินของประเทศโดยส่วนรวมเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนจะช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย
          3. ดำเนินการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่สูง หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ตลอดจนสงวนและคุ้มครองบำรุงรักษาที่ดินที่เหมาะสมทางการเกษตรให้คงความอุดม สมบูรณ์ตลอดไป

 สถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครระยองให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน การผลิตอาหารที่ก่อกำเนิดจากดิน












ขอบคุณข้อมูลจาก 

1. https://th.wikipedia.org/

2.https://sites.google.com/site/kritttiyaporn/kar-xnuraks-din